ความเป็นมาของรหัสแท่งบาร์โค้ด

บาร์โค้ด-Barcode หรือรหัสแท่ง ลักษณะเป็นแท่งขนานดำ-ขาว หมายถึงระบบสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายประจำตัวสินค้าซึ่งเป็นเลขรหัส เป็นภาษาสากลที่ใช้เพื่อสื่อหรือบ่งบอกถึงประเทศผู้ผลิต บริษัทที่ผลิต ชนิดของสินค้า ราคา สินค้า เพื่อให้เกิความสะดวกแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในการตรวจสอบ สินค้า ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเก็บ การจัดจำหน่าย กำหนดนโยบายการตลาด

กำเนิดบาร์โค้ดเริ่มเมื่อพ.ศ.2513 สหรัฐอเมริกาจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจทางด้านพาณิชย์ขึ้นสำหรับค้นคว้ารหัสมาตรฐานและสัญลักษณ์ที่สามารถช่วยกิจการด้าน อุตสาหกรรม เรื่อยมาถึงพฤษภาคม 2516 คณะกรรมการจัดพิมพ์บาร์โค้ด ระบบ UPC-Uniform Product Code ขึ้น สำหรับติดบนสินค้าต่างๆ ส่วนในวงการอุตสาหกรรมใช้สำหรับควบคุมยอดการขายและสินค้าคงคลัง


ปี 2518 กลุ่มประเทศยุโรปจัดตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการเพื่อสร้างระบบบาร์โค้ดเรียกว่า EAN-European Article Numbering สมาคม EAN เติบโตครอบคลุมยุโรปและประเทศอื่นๆ (ยกเว้นอเมริกาเหนือ) เปลี่ยนชื่อเป็น The International Article Numbering Association แต่อักษรย่อยังคงใช้ EAN ระบบบาร์โค้ด EAN เข้ามาในประเทศไทย พ.ศ.2530 ปัจจุบันสิทธิ์การเป็นนายทะเบียนรับสมัครสมาชิกจดทะเบียนบาร์โค้ดเป็นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ประโยชน์ของบาร์โค้ด ด้านผู้ผลิต ได้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า ข้อมูลยอดขาย และส่งเสริมการขายได้รวดเร็ว ควบคุมการขายได้ดี ป้องกันสินค้าขาด ด้านผู้ค้าส่ง กระตุ้นทั้งระบบให้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น การสั่งซื้อสินค้า การรับ-ส่งสินค้า ควบคุมสินค้าคงคลัง ด้านผู้ค้าปลีก ป้องกันการติดราคาผิด เก็บเงินได้เร็วขึ้น ประหยัดแรงงานพนักงาน บริการลูกค้าได้ดีขึ้น ด้านผู้บริโภค ป้องกันการผิดพลาดเวลาชำระ งิน ได้รับบริการเร็วขึ้น มีรายละเอียดของสินค้าที่ซื้อ

การใช้ก็ไม่ยาก เพียงนำตัวเลขของผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่กำหนดขึ้นมาแปลงเป็นรหัสคอมพิวเตอร์ กำหนดเป็นสัญลักษณ์แท่งดำสลับขาวที่มีขนาดต่างกันพิมพ์ติดบนตัวสินค้า การอ่านรหัสกระทำได้โดยนำแถบบาร์โค้ดหรือรหัสแท่งไปผ่านสแกนเนอร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ที่มีรายละเอียดของสินค้า เมื่อสแกนเนอร์อ่าน และรับรู้รหัสจากความแตกต่างของแถบดำ-ขาวที่หนาบางต่างกัน ก็จะส่งผ่านไปยัง คอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลข้อมูลที่อ่านได้จากบาร์โค้ด โดยมีรายละเอียดของประเภทสินค้า ราคาจำหน่าย ส่งตรงไปยังจุดขายและพิมพ์ใบเสร็จออกมาในทันที

การใช้รหัสแท่งช่วยให้เกิดความสะดวกและความถูกต้องในการอ่านข้อมูล ปัจจุบันยังมีประยุกต์ใช้งานการบริหารงานบุคคล งานจัดเก็บเอกสาร จัดการวัสดุคงคลัง การยืมและคืนหนังสือในห้องสมุด ใช้ติดตามการผลิตและการส่งสินค้า ในบางประเทศนำรหัสแท่งมาใช้ในบัตรประจำตัว ใช้แสดงตัวผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในบางงานวิจัยมีการพิมพ์รหัสแท่งขนาดเล็กติดบนตัวผึ้งเพื่อใช้ติดตามการพัฒนาของผึ้งเหล่านั้น

2 comments:

  1. ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณข้อมูลครับ

    ReplyDelete