เรื่องกลมๆ ของขนมมีรูชื่อว่าโดนัท

แป้งทอดทรงกลมแบน ๆ มีรูตรงกลาง เป็นขนมที่หลายคนคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เผลอ ๆ หลายคนอาจจะยกให้โดนัทเป็นขนมชิ้นโปรดเลยก็ได้ มีให้เลือกหน้า เลือกไส้มากมายจนกินตามไม่หวัดไม่ไหว แต่โดนัทที่เราลิ้มรสอร่อยกันมานานนั้นมีประวัติความเป็นมายังไง เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน และทุกวันนี้ก็ได้แต่สงสัยว่า ทำไมโดนัทถึงต้องมีรูเป็นช่องโหว่ตรงกลางด้วยนะ ถ้าอย่างนั้นวันนี้เรามาล้วงความลับที่มาของโดนัทให้รู้ชัด ๆ ไปเลยดีกว่า
จากนักโบราณคดีที่มีความเชื่อว่า ขนมโดนัท หรือที่ชาวดัตช์เรียกขานว่า ออยล์เค้ก (Oil Cake) นั้นกำเนิดมาบนโลกนี้ยาวนานกว่า 400 ปีมาแล้วนะจ๊ะ เพราะพวกเขาได้ขุดพบซากชิ้นส่วนฟอสซิลที่มีลักษณะคล้ายขนมโดนัทจากกองขยะของชาวอเมริกาพื้นเมืองในยุคก่อนประวัติศาสตร์โน่น จึงสันนิษฐานว่า โดนัทนั้นเริ่มมีขึ้นครั้งแรกที่เมืองแมนฮัตตัน หรือนิวอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นเมืองอพยพของชาวดัตช์ที่มาตั้งรกรากในอเมริกา หรือในปัจจุบันก็คือ มหานครนิวยอร์กนั่นเอง
ซึ่งคนแรกที่ให้กำเนิดโดนัทขึ้นมาก็คือ เอลิซาเบธ เกรกอรี่ (หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุไว้เมื่อประมาณปี 1847) แม่ของแฮนสัน เกรกอรี่ กัปตันเรือนิวอิงแลนด์ที่จัดการทำขนมปังทอดไว้สำหรับเป็นเสบียงอาหารให้ลูกชายยามออกเดินเรือ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเธอก็ใช้ส่วนประกอบของเครื่องเทศเท่าที่มีในเรือ เช่น ลูกจันทน์เทศ อบเชย และเปลือกมะนาว มาผสมกับแป้งเค้ก แล้วก็ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เสร็จแล้วก็นำไปทอดจนเหลืองน่ากิน และนำถั่วเฮเซลนัทมาวางตรงกลางขนม และเรียกขนมนี้ว่า โดนัท นับตั้งแต่นั้นมา
และสาเหตุที่เจ้าโดนัทต้องมีรูก็เป็นเพราะว่า แฮนสันนั้นไม่ค่อยถูกใจขนมโดนัทที่อมน้ำมันมากเกินไป เขาก็เลยใช้ขวดพริกไทยบนเรือเจาะรูตรงกลางของขนมเพื่อเอาน้ำมันออกไป และทุกครั้งที่มีงานปาร์ตี้ แฮนสันก็จะนำขนมโดนัทออกมาเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โดนัทเริ่มเป็นที่รู้จักนับแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากโดนัทเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นายอดอล์ฟ เลวิตต์ ผู้ลี้ภัยจากสมัยของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ก็เลยคิดค้นประดิษฐ์เครื่องผลิตโดนัทขึ้นมาในปี ค.ศ.1940 ซึ่งยิ่งช่วยขยายความนิยมให้โดนัทอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก จนขึ้นแท่นเป็นขนมสุดฮิตในอเมริกา แถมยังเก๋าพอที่จะมีวันพิเศษเป็นของตัวเอง ซึ่งก็คือ วันโดนัทแห่งชาติ หรือวันศุกร์แรกของเดือนมิถุนายนในทุก ๆ ปีอีกด้วย ธรรมดาซะที่ไหนล่ะ

No comments:

Post a Comment