ถ้าจะพูดถึงโรคที่คนไทยเป็นกันมากติดอันดับ นอกจากมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไมเกรนแล้ว โรคกระเพาะอาหาร เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายคนจะนึกถึง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนในยุคนี้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารกันมากขึ้น (โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศซึ่งมักจะทำงานแข่งกับเวลา และกินอาหารไม่เป็นเวลา) เกิดจากความเครียดที่สะสมในแต่ละวันนั่นเอง
เครียดที่ใจ ทำไมเป็นแผลที่กระเพาะ
ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาการโรคกระเพาะอาหารกำเริบ เพราะขณะที่เราเครียด ระบบต่างๆ ในร่างกายจะทำงานผิดปกติไปหมด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ลองมาดูกันว่าเกิดอะไรบ้าง
1. ระบบประสาทอัตโนมัติจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา
2. ต่อมไทรอยด์จะหลั่งฮอร์โมนเร่งปฏิกิริยาการเผาผลาญอาหารออกมามากขึ้นเพื่อเพิ่มพลังงาน การกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับและอยากอาหารเพิ่มขึ้น เมื่อกินอาหารไม่เป็นเวลา กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักมากขึ้น
3. ความเครียดยังทำให้การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้หยุดชะงักลง แต่จะส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดอาการระคายเคืองและกลายเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้
นี่แหละ ที่เรียกว่าเครียดที่ใจ แต่มีผลถึงกระเพาะอาหาร
สังเกตความเครียดก่อโรค
เมื่อรู้ว่าความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระเพาะอาหาร แล้วรู้หรือไม่ว่า ตัวคุณกำลังมีอาการเครียดอยู่หรือเปล่า ลองสังเกตได้จากอาการเบื้องต้น ดังนี้
1. หัวใจเต้นแรงผิดปกติ หายใจเร็วและถี่ขึ้น กล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง ปากแห้ง
2. เหงื่อออกมาก ทำให้เส้นเลือดฝอยในชั้นใต้ผิวหนังหดตัวและเกิดอาการขนลุกได้
3. เบื่ออาหาร กินไม่ได้
4. มีอาการมึนงง หงุดหงิด รำคาญใจอยู่บ่อยๆ
5. อยากอยู่คนเดียว
6. ท้องผูก
เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าหากคุณสะสมความเครียดไว้นานวันเข้า สุดท้ายคุณก็จะเป็นโรคกระเพาะอาหารจากความเครียดในที่สุด
คราวนี้เรามาดูกันว่า อาการแบบไหนที่เข้าข่ายเป็นโรคกระเพาะอาหาร
1. รู้สึกปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ มักปวดเวลาท้องว่าง และอาการปวดเหล่านี้จะลดลงหรือหายไปเมื่อเรารับประทานอาหาร
2. มีอาการปวดหลัง หลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2 - 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่กระเพาะอาหารของเราเริ่มย่อยอาหาร
3.รู้สึกแน่นท้อง ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว อาจเกิดจากการรีบกินอาหาร การกลืนอาหารเร็วเกินไป รวมไปถึงการดื่มน้ำมากขณะกินอาหาร ซึ่งส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารในกระเพาะแปรปรวน
4. รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เสียดหน้าอก มักจะเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไม่ย่อย
หากมีอาการปวดท้องรุนแรง ชนิดที่ว่าหายใจแรงก็ปวด ถ่ายท้อง อาเจียน หรืออุจจาระออกมาเป็นเลือดและมีสีดำตลอดเวลา ให้รู้ไว้เลยว่าอาการอยู่ในขั้นอันตราย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเป็นการด่วน หากช้าเกินไปอาจเกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในทางเดินอาหารได้
หลากวิธีหนีโรคกระเพาะอาหาร
สำหรับคนที่มักจะทำงานเพลินจนลืมดูแลสุขภาพกระเพาะอาหารของตัวเอง และผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้อาการแย่ลงไปกว่าเดิม เรามีข้อแนะนำในการป้องกันโรคกระเพาะอาหารมาฝาก ดังนี้
1. กินอาหารให้ตรงเวลาและให้ครบ 3 มื้อ เป็นข้อปฏิบัติอย่างแรกที่ควรทำ เพราะจะช่วยให้กระเพาะอาหารเคยชินกับการย่อย และปล่อยน้ำย่อยออกมาในปริมาณที่พอดีทุกวัน
2. สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้ว ในระยะแรกให้ฝึกการกินอาหารให้ตรงเวลา อาจรู้สึกปวดท้องมาก ควรเริ่มจากการกินอาหารย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ทีละน้อยๆ ก่อน ทั้งนี้ควรงดอาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด ของดอง และอาหารทอดทุกประเภท
3. เลิกสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดรวมทั้งชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ และอาจทำให้โรคกระเพาะอาหารที่เป็นอยู่กำเริบหนักขึ้น
4. หยุดยาแอสไพริน ยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบ ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ เพราะยาจำพวกนี้จะมีฤทธิ์ไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารเกิดการอักเสบมากขึ้น ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาบางชนิด เช่น
ยารักษาข้ออักเสบ ควรสอบถามเพื่อความมั่นใจจากแพทย์ก่อน
5. หากิจกรรมคลายเครียด สามารถทำได้หลายวิธี เป็นต้นว่า การออกกำลังกาย เช่น วิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ขี่จักรยาน รำมวย รำกระบอง เต้นแอโรบิก หรือทำสมาธิ อ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้หากปฏิบัติเป็นประจำ จะช่วยลดความเครียด และในระยะยาวยังสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารให้หายขาดได้
6. จัดตารางการทำงาน วางแผนการทำงานล่วงหน้าเพื่อให้รู้ว่าในแต่ละวันคุณต้องทำอะไรก่อนหลัง เพื่อที่จะได้จัดเวลาการทำงานและพักผ่อนได้อย่างเหมาะสมลงตัว
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ลองเอาข้อแนะนำข้างต้นไปใช้ดู
ได้ข้อคิดดีมาก
ReplyDelete